วันอาทิตย์ที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2557



ทรงบอกเหตุแห่งความอันตรธานของคำสอนเปรียบเหมือนกลองศึก

ภิกษุ ท.! เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว : กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ เรียกว่า อานกะ มีอยู่.
เมื่อกลองอานกะนี้ มีแผลแตก หรือลิ, พวกกษัตริย์ทสารหะได้หาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่มเสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น(ทุกคราวไป) ภิกษุ ท.! เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้นนานเข้าก็ถึงสมัยหนึ่ง ซึ่งเนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป เหลืออยู่แต่เนื้อไม้ที่ทำเสริมเข้าใหม่เท่านั้น ;
ภิกษุ ท.! ฉันใดก็ฉันนั้น : ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต จักมีภิกษุทั้งหลาย, สุตตันตะ (คำสอน) เหล่าใด ที่เป็นคำของตถาคต เป็นข้อความลึกมีความหมายซึ่ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา, เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่. เธอจักไม่ฟังด้วยดี จักไม่เงี่ยหูฟัง จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน. ส่วนสุตตันตะเหล่าใด มีนักกวีแต่งขึ้นใหม่ เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน มีอักษรสละสรวย มีพยัญชนะอันวิจิตร เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก, เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่, เธอจักฟังด้วยดี จักเงี่ยหูฟัง จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตน ควรศึกษาเล่าเรียนไป.
ภิกษุ ท.! ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้น ที่เป็นคำของตถาคตเป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง เป็นชั้นโลกุตตระ ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตาจักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้ แล.

นิทาน. สํ. ๑๖/๓๑๑/๖๗๒-๓.


0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น